สถานที่ท่องเที่ยว
กลุ่มทอผ้าไทครั่ง

ผ้าทอไทครั่ง คือ ผลผลิตที่เกิดจากการรังสรรค์ของช่างทอผ้า ที่ได้อาศัยองค์ความรู้และ ภูมิปัญญา    ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน โดยแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์          ของกลุ่มชาติพันธุ์ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นความภาคภูมิใจของชุมชน ผ้าซิ่นของชาวไทครั่ง          มักต่อตีนซิ่นด้วยฝ้ายหรือไหม ตีนซิ่นทอเป็นพื้นสีแดงใช้เทคนิคการจกด้วยฝ้ายหรือไหม สีเหลือง          ส้ม น้ำเงิน ขาว เขียว  ให้เกิดลวดลายโดยทิ้งพื้นสีแดงไว้ด้านล่างของตีนซิ่น การทอตัวซิ่นนิยม                 ทอด้วยเทคนิคมัดหมี่เส้นพุ่งด้วยการย้อมสีเดียวและใช้วิธีการแต้มสีอื่นๆเพิ่มเติม หรือภาษาท้องถิ่น      เรียกว่า “แจะ” เป็นการให้ลวดลายหมี่มีสีสันเพิ่มขึ้น ผ้าซิ่นตีนจกที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของชาวไทครั่ง     มีอยู่ด้วยกัน ๔ แบบ คือ

  1. ซิ่นก่าน ใช้เทคนิคการจกหรือขิดตัวซิ่นทั้งผืน ลวดลายที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ คือ ลายดอกแก้ว     ลายมะเขือ ผ่าโผ่ง
  2. ซิ่นหมี่ลวด เป็นซิ่นที่ใช้เทคนิคการมัดหมี่และทอต่อเนื่องโดยไม่มีอะไรมาคั่น ทำให้เกิดลวดลายอย่างต่อเนื่องลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ลายหมี่สำเภาและลายหมี่ขอใหญ่
  3. ซิ่นหมี่ตา ใช้เทคนิคการมัดหมี่สลับกับการจกหรือขิด ทำให้เกิดลวดลายขนานกับลำตัวลวดลายของมัดหมี่จะเป็นลาย หงส์ หรือนาค เป็นส่วนใหญ่
  4. ซิ่นหมี่น้อย เป็นซิ่นที่ใช้เทคนิคการมัดหมี่เป็นลวดลายแถบเล็กๆ สลับด้วยฝ้าย                   หรือไหมพื้นสีต่าง ๆ

    นอกจากซิ่นตีนจกแล้วยังมีสิ่งทอที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทครั่งซึ่งยังคงสืบทอดกันอยู่ เช่น             ผ้าปกหัวนาค ลักษณะเป็นผ้าสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทอด้วยฝ้ายสีขาว ใช้เทคนิคการทอจกและขิด มีชายครุย ๒ ด้านขอบอีก ๒ ด้านเย็บด้วยผ้าฝ้ายสีแดง ในประเพณีบวชนาค เมื่อนาคโกนศีรษะแล้วก็จะใช้ผ้าปกหัวนาค    คลุมไว้บนศีรษะโดยให้ชายครุยปล่อยทิ้งลงมาข้างหู ผ้าตุง มีลักษณะเด่น คือ จะทอเป็นผืนผ้าฝ้ายสีขาว    ใช้เทคนิคการขิดและจก โดยลวดลายที่ปรากฏบนผืนตุงจะเป็นลายสัตว์ที่ช่างทอได้พบเห็น เช่น               ช้าง ม้า นกยูง ไก่ งู เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังมีลวดลายสัตว์ในหิมพานต์ ได้แก่ นาคและลวดลาย          คนในอิริยาบถท่าทางต่างๆ