สินค้า OTOP
กลุ่ม OTOP การผลิตเครื่องปั้นดินเผา

สังคโลก เป็นเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดี มีการเคลือบผิวและตกแต่งลวดลายงดงาม เผาด้วยความร้อนสูงมากประมาณ 1,150-1,280 องศาเซลเซียส เตาเผาและเทคนิคการเผาได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานานนับร้อยปี ตั้งแต่สมัยต้นกรุงสุโขทัยจนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังที่มีเตาเผาปรากฏอยู่ที่อำเภอเมือง และอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย การผลิตเครื่องสังคโลกในช่วงแรก ราวพุทธศตวรรษที่ 18 เพื่อประโยชน์ใช้สอย และค้าขายในชุมชนและหัวเมืองใกล้เคียง ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 19 ชาวศรีสัชนาลัยสามารถสร้างเตาที่ใช้เผาเครื่องสังคโลกคุณภาพดี และดำเนินการผลิตจนสามารถส่งออกขายอย่างแพร่หลายในตลาดต่างแดนได้ในพุทธศตวรรษที่ 20-22 ราวพุทธศตวรรษที่ 21 มีการค้นพบคำคำหนึ่งในบันทึกของชาวญี่ปุ่น คือคำว่า ซันโกโรกุ (sunkoroku) เข้าใจว่าเป็นคำที่คนญี่ปุ่นพยายามออกเสียงโดยหมายถึง สวรรคโลก (แหล่งหรือเตาเผาที่เมืองศรีสัชนาลัย เดิมเรียก สวรรคโลก) ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นคำว่า สังคโลก โดยคนสยามอีกทีหนึ่ง เครื่องสังคโลกตามเหตุผลนี้จึงหมายถึง เครื่องปั้นดินเผาทุกชนิดที่ผลิตในแคว้นสุโขทัย

กลุ่ม OTOP การผลิตเครื่องปั้นดินเผา เป็นกลุ่มชาวบ้านบ้านเกาะน้อยที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาเพื่อจำหน่าย     เป็นของที่ระลึก ผู้มาเยือนสามารถเรียนรู้การปั้นด้วยฝีมือตนเองเรียนรู้ตั้งแต่วิธีการนำดินมาทำการปั้นจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคนในชุมชนถ่ายทอดให้ความรู้และจะได้ชิ้นงานที่ตนเองเป็นผู้ทำกลับไปเป็นของที่ระลึก

เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเครื่องสังคโลกที่สำคัญ พบเตาจำนวนมากตั้งเรียงรายอยู่บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำยม ส่วนมากเป็น "เตาประทุน" หรือเตาชนิดระบายความร้อนผ่านในแนวนอน กลุ่มเตาที่สำคัญสองกลุ่มคือ กลุ่มเตาบ้านเกาะน้อย และกลุ่มเตาบ้านป่ายาง ในพุทธศตวรรษที่ 20 เครื่องสังคโลกศรีสัชนาลัยเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมของท้องตลาด การผลิตสังคโลกในบริเวณศรีสัชนาลัยดำเนินกิจการในลักษณะอุตสาหกรรม โดยมีอาณาจักรอยุธยาซึ่งมีอิทธิพลด้านการเมืองเหนือสุโขทัยและศรีสัชนาลัยดำเนินธุรกิจในฐานะรัฐที่เป็นพ่อค้าคนกลางนำใส่เรือสำเภาออกไปขายตามเมืองท่าทั้งในประเทศและ นอกประเทศ บันทึกการสั่งสินค้าของพ่อค้าฝรั่งชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาติดต่อค้าขายในกรุงศรีอยุธยา ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า เครื่องสังคโลกศรีสัชนาลัยยังคงเป็นสินค้าที่ยังเป็นที่นิยมอยู่ โดยเห็นได้จากจดหมายเกี่ยวกับการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาในปีพุทธศักราช 2157 กล่าวถึงความต้องการซื้อเครื่องถ้วยชามสังคโลกของพ่อค้าฮอลันดา และกล่าวถึงความนิยมของชาวญี่ปุ่นว่า ต้องการเครื่องสังคโลกของไทย